วันจันทร์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2557


รวยด้วยอาชีพเสริม ยอดมนุษย์เงินเดือน ทำงานได้เพียงค่าตอบแทนรายเดือนโอกาสรวยมีน้อยมากถึงน้อยที่สุด เพราะเราทำงานให้คนอื่นร่ำรวย แต่ถ้าวันนี้มีอาชีพเสริม และทำให้คุณมีช่องทางทำมาหากินเพียงระยะสั้นๆ แล้วสามารถรวยได้คุณจะทำหรือเปล่า ลองถามใจตัวเองก่อน อาชีพเสริม”แหล่งเงินก้อนใหม่ที่ไม่เพียงเพิ่มเศษเงินในกระเป๋าแต่ทำให้บางคนเปลี่ยนสถานะเป็น "มหาเศรษฐี" มาแล้ว


เชื่อหรือไม่ว่า “อาชีพเสริม” จะทำให้พนักงานกินเงินเดือนตัวเล็กๆ บางคน เปลี่ยนสถานะมาเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน !!
เรื่องจริงไม่ “มโน” ที่เกิดขึ้นแล้วกับ “ซาร่าห์ เบลคลี่ย์”อดีตเซลล์ขายเครื่องแฟกซ์ ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Spanx ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน เริ่มจากแค่ทำเป็นอาชีพเสริม ก่อนได้รับการตอบรับจากตลาดจนโด่งดังไปทั่วโลก เธอได้รางวัลจากนิตยสาร Forbes ในฐานะผู้หญิงที่ "รวยด้วยตัวเอง" ที่มีอายุน้อยที่สุด (The youngest self-made billionaire) และคาดกันว่า เธอมีทรัพย์สินเบาะๆ ไม่น่าจะน้อยกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) !!
ตัวอย่างกระตุ้นต่อมอยากของเหล่ามนุษย์เงินเดือน ที่แบ่งปันจากกิจกรรมเวิร์คช้อป หัวข้อ “3 ก้าว ค้นหาอาชีพเสริม สร้างรายได้อย่างมั่นใจ” ที่จัดโดย K-Expert ธนาคารกสิกรไทย เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมา
เปลี่ยนทัศนคติของผู้คนที่มีต่อคำว่า “อาชีพเสริม” อย่างสิ้นเชิง
“อาชีพเสริม” ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับคนไทย หลายคนคุ้นเคยดีกับการมี "อีกอาชีพหนึ่ง" มาเพิ่มรายได้ให้อาชีพหลัก อย่างการเป็น ติวเตอร์ ที่ปรึกษา ครูสอนว่ายน้ำ ทำธุรกิจออนไลน์ ขายประกัน ฯลฯ
ในวันนี้ผู้คนให้ความสนใจกับอาชีพเสริมกันมากขึ้น เพราะเป็นหนึ่งสมการ “สร้างความมั่งคั่ง” ที่ใครหลายคนอาจมองข้ามไปก่อนหน้านี้
อย่างสมการแสนคุ้น “รายได้-รายจ่าย=เงินออม” จะออมเงิน ยังนึกถึงการฝากเงินและการลงทุน คิดลดรายจ่ายยังมีอีกหลายทางเลือกให้ตอบสนอง อย่าง ทำประกัน การประหยัดภาษี เป็นต้น แต่พอมาเจอกับโจทย์หลัก “สร้างรายได้” ที่ไม่ใช่ออกมาทำธุรกิจส่วนตัวจริงๆ จังๆ ก็ยังไม่เห็นทางว่าจะทำกันแบบไหน
“เด็กจบใหม่ ฝันอยากเป็นเจ้าของกิจการกันเยอะมาก แต่ก็เสี่ยงมากเช่นกัน เพราะเขายังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ อยู่ดีๆ กระโดดมาทำเลยก็เสี่ยง มีที่เจ๊งไปหลายรายแล้ว ดังนั้นทางหนึ่งที่จะลดความเสี่ยงตรงนี้ได้ก็คือ ให้เริ่มจากทำงานประจำไปก่อน เพื่อค่อยๆ เรียนรู้ เก็บประสบการณ์ ขณะเดียวกันก็ไม่ละทิ้งความฝันของตัวเอง ด้วยการทำเป็นอาชีพเสริมไปด้วย”
“ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์” รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนและให้คำปรึกษาลูกค้าบุคคล สายงานธุรกิจลูกค้าบุคคลและเครือข่ายบริการ ธนาคารกสิกรไทย สะท้อนความสำคัญของคำว่า “อาชีพเสริม” ที่จะช่วยเติมเต็มความฝันของใครหลายคนให้สมบูรณ์
ในการก้าวเป็น “เจ้าของกิจการ”
แต่อาชีพเสริมก็ไม่ได้สนองความฝันของคนกลุ่มเดียวเท่านั้น เมื่อยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่แฮปปี้กับงานประจำอยู่ ยังอยากเติบโตไปเป็นผู้บริหารระดับสูง ก้าวหน้าในสายงาน และอยากทำงานไปจนวันเกษียณ แต่ขณะเดียวกันก็อยากมีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองด้วย และนั่นคือเหตุผลที่คนกลุ่มนี้ เลือกมามี..อาชีพเสริม
อาชีพเสริมเลยเป็นทั้งช่องทาง “เพิ่มรายได้” และยังมีโอกาสพัฒนาเป็น “อาชีพหลัก” ของเราในอนาคต
เมื่อคนสองกลุ่ม สองทาง มีความต้องการที่ชัดขึ้น เราเลยได้เห็น “สารพัดอาชีพเสริม” อย่าง บริการพาเด็กๆ ไปออกกำลังกาย สอนภาษา สอนดนตรีออนไลน์ ติวเตอร์ ขายของออนไลน์ เป็นวิทยากรงานแต่ง รับจ้างถ่ายภาพ กับอีกสารพัดอาชีพ ที่สามารถแบ่งเวลาทำได้โดยไม่กระทบกับงานหลัก
เห็นคนอื่นทำแล้วได้ดี ก็ชักคันไม้คันมือ อยากหาอาชีพเสริมทำกับเขาบ้าง
ว่าแต่จะเลือกอาชีพไหนถึงจะ “ใช่” ตัวเราที่สุด !!?
ทีมงาน K-Expert บอกเราว่า ให้เริ่มคิดจาก 3 สิ่ง นั่นคือ “ใจรัก-ทักษะ-ประสบการณ์”
เริ่มกันที่ “ใจรัก” ถามตัวเองดูว่า เรามีความชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษ เช่น รักสุนัข ชอบดื่มกาแฟ ชอบเดินทางท่องเที่ยว แล้วลองเปลี่ยนความชอบนั้นมาเป็นอาชีพเสริมดู
ยกตัวอย่าง “เด่นซาลาเปา” ที่เริ่มจากเจ้าของมีใจรัก ชอบทำและชอบทานซาลาเปา พอไปกินรสชาติอื่นแล้วรู้สึก “ไม่ถูกใจ” จึงคิดค้นสูตรขึ้นเอง ทำไปทำมาเลยกลายเป็นธุรกิจและประสบความสำเร็จ จนสามารถเปิดขายแฟรนไชส์ได้
บางคนเลี้ยงสุนัข และรักเอามากๆ ก็สามารถแปลงใจรักในสัตว์เลี้ยงมาเป็นธุรกิจเสริมได้หลากหลาย เช่น ขายเสื้อผ้า ขายอาหาร ขายอุปกรณ์เครื่องใช้สุนัข ดูตัวอย่าง ร้านอาหาร “Coffee & Puppy” คาเฟ่น้องหมา ที่เริ่มจากเจ้าของซึ่งรักสุนัขจึงเข้าใจหัวอกคนรักสุนัขที่มักหาร้านอาหารที่อนุญาตให้สัตว์เลี้ยงเข้าไม่ค่อยได้ เลยเอาความรักมาพัฒนาเป็นธุรกิจร้านอาหารที่ตอบสนองทั้งสุนัขและคนเลี้ยงโดยเฉพาะ
ต่อมาคือ “ทักษะ” ลองทบทวนดูว่า เรามีทักษะอะไรติดตัวมาบ้าง เช่น การถ่ายภาพ สอนหนังสือ ทำอาหาร เล่นดนตรี ฯลฯ แล้วลองแปลงทักษะเหล่านี้มาเป็นอาชีพ
ยกตัวอย่าง “ครูลิลลี่” ครูสอนภาษาไทยขวัญใจเด็กแนว ที่เรียนจบใหม่ๆ ก็ไปทำงานเป็นฝ่าย HR ของโรงงานแห่งหนึ่ง วันหนึ่งมีรุ่นพี่ชวนไปสอนหนังสือเด็ก ทำให้ค้นพบตัวเองว่า สอนหนังสือเก่ง เลยลาออกจากโรงงานไปสมัครเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ก็ไม่ใช่ตัวตนอีก ก็เลยทำอาชีพเสริมไปด้วย คือ การไปเป็น “ติวเตอร์” จนมีชื่อเสียงขึ้นมา และเปิดสถาบันของตัวเองขึ้นมาได้ในที่สุด
นี่คือการคิดจากทักษะที่มี แล้วตีเป็นอาชีพเสริม
ปิดท้ายกับ “ประสบการณ์” ให้มองจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา สิ่งที่เราไปพบไปเจอ หรือเห็นจากสิ่งใกล้ๆ ตัว ก็สามารถแปลงมาเป็นโอกาสทำอาชีพได้ ดูตัวอย่าง ไอศกรีม “Iberry” ของ “อัจฉรา บุรารักษ์” อดีตแอร์โฮสเตส และเลขานุการประชาสัมพันธ์โรงแรม หลังเรียนจบเธอไปทำงานโรงแรม ทำไปทำมาไม่ชอบก็เลยออกมาเป็น แอร์โฮสเตส ทำให้มีโอกาสเดินทางไปยังที่ต่างๆ วันหนึ่งไปสะดุดใจกับร้านไอศกรีมที่ขายดีมากในเมืองนอก เลยคิดเอามาต่อยอดทำธุรกิจในไทย
สุดท้ายก็กลายเป็นธุรกิจหลักที่เป็นจริงเป็นจังขึ้นในวันนี้
“ที่ประยุกต์ได้ง่ายสุดก็คือ การคิดจากรีซอร์สที่เรามีอยู่ อย่างทักษะที่มี เช่น คนที่ทำงานประจำเป็นวิศวกร ก็จะได้ความเชี่ยวชาญในหน้าที่ที่ทำ ก็สามารถแปลงความเชี่ยวชาญนั้นมาเป็นอาชีพเสริมได้ เช่น อาจไปเป็นวิทยากร หรืออาจารย์สอน เป็นต้น ซึ่งการแปลงทักษะเป็นอาชีพนี้ แทบไม่มีต้นทุนเลย เพราะเป็นการเริ่มจากสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด”
แต่ถ้าคิดสะระตะแล้ว “ทักษะ” ก็ไม่ค่อยจะมีกับเขา ให้จำไว้ว่า ให้คิดจากสิ่งที่ชอบสำคัญสุด เพราะคำว่า อาชีพเสริม คือ การต้องทุ่มเทเวลาให้กับงานหลัก ภักดีกับองค์กรและเจ้านาย แล้วเจียดเวลา "บางส่วน" เพื่อมาทำงานหารายได้ ดังนั้น ถ้างานหลักเครียดจะแย่ ยังต้องมาเจออาชีพเสริมที่ไม่ชอบอีก พาลจะเครียดกันไปใหญ่โต “ไม่โอ” ทั้งงานราษฎร์และงานหลวง
ถ้าไม่อยากคิดจากตัวเอง แต่อยากมองจากเทรนด์ตลาด ต้องบอกว่า อาชีพเสริมที่มาแรงสุดๆ ต้องยกให้ “ธุรกิจออนไลน์” เนื่องจากเป็นตลาดที่เติบโตสูง ชนิดไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2556 ธุรกิจ E- Commerce น่าจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 1.32-1.35 แสนล้านบาท และขยายตัวถึง 25-30% ขณะที่ความก้าวหน้าของ 3G จะช่วยผลักดันให้ธุรกิจ E- Commerce เข้าสู่ยุคโมบาย หรือที่เรียกว่า M-Commerce ซึ่งจะกลายเป็น "ช่องทางใหม่" ที่มาแรงในการทำตลาดและเพิ่มรายได้
เป็นตลาดฮ็อต และมาแรง ! แต่เราควรจะขายอะไรในตลาดออนไลน์ ในเมื่อสินค้ามีมากมายมหาศาล ทีมงาน K-Expert บอกเราว่า สินค้ายอดนิยมคือ สินค้าแฟชั่น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 35% รองลงมาคือ เครื่องสำอาง 31% อื่นๆ อาทิ อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน 21% และอาหารเสริมที่ 8% ว่ากันง่ายๆ เฉพาะสินค้าแฟชั่นและเครื่องสำอางก็กินแชร์ไปแล้วกว่า 60%
“โดยทั่วไปเวลาจะขายสินค้าออนไลน์ก็มักขายสินค้าตามแฟชั่น เพราะมีจุดเด่นตรงที่คำว่า ‘เทรนด์’ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า ‘ดีมานด์’ เวลาเทรนด์ไหนมา ถ้าพ่อค้าแม่ค้าจับมาขายได้เร็ว ก็มีแนวโน้มที่จะขายได้สูง ถ้าไปจับอย่างอื่นที่ไม่ใช่เทรนด์ โอกาสขายได้ก็จะน้อยลง”
นั่นคือเหตุผลที่ใครหลายคนเลือกกระโดดลงสนามออนไลน์ ด้วยการ “จับเทรนด์” มาแจ้งเกิด เช่น ยุคก่อนก็ขายเฟอร์บี้ ยุคนี้ก็กล้องฟรุ้งฟริ้ง เหล่านี้ เป็นต้น
ทำธุรกิจออนไลน์เป็นอาชีพเสริม สามารถทำได้สะดวก เพราะไม่กินเวลางาน สามารถเจียดเวลาช่วงพัก แวะมาดูหน้าร้านออนไลน์ได้ แล้วใช้เวลาหลังเลิกงาน อยู่กับธุรกิจได้เต็มๆ ที่สำคัญไม่ต้องใช้เงินทุนเริ่มต้นมากมาย บางคนไม่ได้ใช้เงินด้วยซ้ำ แต่ใช้ระบบ “พรีออเดอร์” คือ รับออเดอร์รับเงินมาแล้วค่อยไปสั่งของมาตอบสนอง
แต่หัวใจของการทำธุรกิจออนไลน์ คือ ต้องตอบสนองลูกค้าเร็ว เช่น ส่งของเร็ว ตอบคำถามลูกค้าเร็ว และต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า อย่าง เมื่อมีสินค้าชำรุดเสียหาย ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบทันที ไม่ปัดความรับผิดชอบ
ขณะที่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง เช่น การสต็อกสินค้า และหากออเดอร์สินค้ามาจากต่างประเทศ ก็ต้องเสียภาษีนำเข้าให้ถูกต้อง
นอกจากธุรกิจออนไลน์ อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงรับกระแส AEC ก็คือ “ติวเตอร์สอนภาษา” เนื่องจากยุคต่อจากนี้ภาษาเป็นเรื่องจำเป็นมากขึ้น โดยภาษายืนพื้นยังเป็นภาษาอังกฤษ และจีน ซึ่งมนุษย์เงินเดือนคนใดที่ไปเรียนเมืองนอกมา ได้สำเนียง ได้แกรมม่า อยู่แล้ว หรือลูกคนจีนที่ได้ภาษาจีน ก็สามารถลองทำอาชีพเสริมด้วยการรับสอนภาษาได้
รวมถึงเทรนด์ที่ไม่มีแผ่ว ก็คือ การเป็นวิทยากรและอาจารย์ โดยคนทำงานมาหลายปี จะมีทักษะและประสบการณ์ สามารถแปลงมาเป็นอาชีพเสริมทำเงินได้
แต่ขึ้นชื่อว่า “อาชีพเสริม” ดูเป็นแค่ “ตัวสำรอง” ของอาชีพหลัก แล้วจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดความยั่งยืนและประสบความสำเร็จอย่างใครเขาได้
เหล่ากูรู แนะ 5 ปัจจัย แห่งความสำเร็จ นั่นคือ 1.รู้จุดแข็งของอาชีพเสริม ทั้งการรู้ว่าอาชีพที่เลือกจะเข้มแข็งและแข่งขันได้ดีต้องดีต้องเด่นที่ไหนบ้าง 2.เข้าใจตลาด ค้นหา ทำความเข้าใจ ความต้องการของลูกค้าและตลาดอย่างถ่องแท้
3.ค่อยเป็นค่อยไป โดยควรเริ่มต้นเล็กๆ อย่าทำอะไรเกินตัว เริ่มจากสิ่งที่มั่นใจและแสวงหาโอกาสต่อยอด 4.รักษาคุณภาพ และความเชื่อมั่นที่ลูกค้าจะมีต่อธุรกิจ ใส่ใจในรายละเอียดและปรับปรุงคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ ปิดท้ายกับ และ 5.จัดสรรทั้งเวลาและเงินที่เป็นส่วนตัวและที่เป็นของธุรกิจให้ลงตัว อย่าให้กระทบกับงานประจำ
“คำอาชีพเสริมแปลว่า เรามีอาชีพหลักอยู่ ถ้าให้เลือกว่าต้องทุ่มเทกับอะไรดี ระหว่างอาชีพหลักกับอาชีพเสริม แม้ว่าเราอยากทำอาชีพเสริมใจจะขาด แต่ด้วยความจงรักภักดีกับนายจ้างหรือองค์กร เราควรให้เวลากับนายจ้างอย่างเต็มที่ อย่าให้อาชีพเสริมมาทำให้อาชีพหลักเสียหาย ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องทำงานในหน้าที่ให้หนักขึ้น เพื่อที่เวลาที่เหลือจะเป็นเวลาของเราไม่ใช้ของนายจ้าง”
ทำอาชีพเสริมไปถึงจุดไหน ถึงจะตัดสินใจได้ว่า ควรกระโดดมาทำจริงจัง เรื่องนี้ ฉัตรพงศ์ บอกว่า ไม่ได้อยู่ที่การมีรายได้สูงกว่างานประจำ แต่อยู่ที่เรามั่นใจแล้วว่า ถ้ากระโดดมาทำเต็มตัว ทุ่มเทเวลากับมันเต็มที่ แล้วอาชีพเสริมนั้นจะไปได้ไกลกว่านี้ เมื่อกายพร้อม ใจพร้อม ก็เตรียมยื่นใบลาออกจากงานประจำได้
สำหรับคนที่อยากจะเริ่มอาชีพเสริม มีเพียง 3 ปัจจัยที่จะทำให้ความฝันเป็นจริงได้ นั่นคือ 1.ต้องมีฝัน 2. อุตสาหะอย่างแรงกล้า และ 3. ต้องมีแผน
การจะเริ่มอาชีพเสริมได้ “ต้องมีความฝัน” ปัญหาของคนที่เริ่มไม่เป็นเพราะ ไม่มีความฝัน มีแต่ “คำถาม”
โดยการวาดภาพตัวเองในอนาคตว่าอยากเป็นอยากได้อะไรนั้น แล้วคอยเตือนตัวเองอยู่เสมอ ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เราเป็นไปตามภาพฝันนั้นได้
ต่อมาคือ “อุตสาหะอย่างแรงกล้า” เพราะระหว่างทางจะเจอกับคำถามบั่นทอนความตั้งใจมากมาย ทั้งจากผู้หวังดีและประสงค์ร้าย อย่าง “บ้าหรือเปล่า เพ้อฝันหรือเปล่า จะทำได้จริงเหรอ ? ” ข้อแนะนำในเรื่องนี้ คือ ให้หา “ไอดอล” สักคน ที่ประสบความสำเร็จ แล้วเราอยากมีชีวิตเหมือนอย่างเขา เอามาเป็นโรลโมเดลเพื่อให้ยึดมั่นกับเป้าหมายและไม่ท้อ
ปิดท้ายกับ “ต้องมีแผน” เพราะถึงแม้จะมีความฝัน มีความมุมานะแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีแผน เดินหน้าทำไปก็อาจล้มเหลวได้ หรืออาจกลายเป็นแค่ ฝันล้มๆ แล้งๆ ไปผิดที่ผิดทาง หนักกว่านั้นก็อาจ “ไม่ได้ทำมัน” ด้วยซ้ำ
“การมีแผน คือ การสำรวจตัวเอง ว่าตกลงเราจะทำอะไร ลิสต์รายการออกมา คัดกรอง ศึกษา คิดจะทำมันอย่างจริงจัง สุดท้ายคือ ลงมือทำ ซึ่งเราอาจจะไม่สำเร็จในจุดที่เริ่มก็ได้ บางอันเฟล บางอันซัคเซส แต่การที่เราเริ่มต้นลงมือทำอะไรบางอย่าง จะทำให้เห็นลู่ทางที่จะก้าวต่อไปได้ ซึ่งเงินไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ 'แรงบันดาลใจ' สำคัญกว่า”
ก็แค่ทำงานทุกวันให้เต็มที่ และใช้เวลาที่เหลือมาทำอาชีพเสริม แล้วเราก็จะเป็นมนุษย์เงินเดือน ที่ประสบความสำเร็จ
มีชีวิตที่มั่นคงเหนือมนุษย์เงินเดือน
....................................................
ซาร่าห์ เบลคลี่ย์
อาชีพเสริม สู่วิถี “บิลเลียนแนร์”
“ซาร่าห์ เบลคลี่ย์” คือชื่อของอดีตเซลล์ขายเครื่องแฟกซ์ ต้นแบบมนุษย์เงินเดือน ที่เลือกทำอาชีพเสริมระหว่างงาน มุ่งมั่นที่จะไม่ออกจากงานประจำจนกว่าอาชีพเสริมจะมีแววประสบความสำเร็จ
จนก่อเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ชุดชั้นในกระชับสัดส่วน แบรนด์ Spanx ที่โด่งดังไปทั่วโลก ทำให้มนุษย์เงินเดือนตัวเล็กๆ อย่างเธอ ขึ้นแท่น “The billionaire” ได้ในวันนี้ได้
เพราะเห็นปัญหาระหว่างทำงาน ว่าเป็นเรื่องยากมากที่จะสวมกางเกงสีขาวไปพบลูกค้า โดยที่ไม่เห็นขอบชั้นใน เธอจึงแก้ปัญหาเฉพาะหน้าโดยตัดถุงน่องให้เป็นคล้ายๆ กางเกงขาสั้น แล้วสวมแทนกางเกงชั้นใน และพบว่ามันช่างสบายกว่ามาก เลยตั้งปณิธานกับตัวเองว่า
อยากจะทำออกมาเป็นสินค้าให้คนทั่วไปได้ใช้ดูบ้าง
แต่ระหว่างนั้นซาร่าห์ก็ไม่คิดที่จะลาออกจากงานประจำ เพราะไม่มีอะไรการันตีว่า ทำแล้วมันจะเวิร์คจริงไหม ถ้าไม่เวิร์คอะไรจะเป็นหลักประกันให้ชีวิตได้ ซึ่งก็ดูจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่ผิด เพราะระหว่างทางเธอพบอุปสรรคมากมาย ในการทำธุรกิจ เรียกว่า ตั้งแต่ ปัญหาด้านการผลิต การตลาด การขาย และสารพัดปัญหาที่พบเจอระหว่างทาง เพราะประสบการณ์ที่ยังน้อย ทุกอย่างเลยสะเปะสะปะไปหมด แม้แต่วันที่ แบรนด์ Spanx ขายดิบขายดี ก็ยังเจอปัญหาสินค้าลอกเลียนแบบเข้ามาอีกจนได้
ซาร่าห์ ลองผิดลองถูกจนแน่ใจ ว่าธุรกิจใหม่ “ลงตัว” และพร้อมทำเงินแล้ว ถึงได้ยื่นใบลาออกมาทำธุรกิจเต็มตัว และใช้เวลาไม่กี่ปีในการขึ้นทำเนียบมหาเศรษฐีระดับพันล้านของโลก โดยได้รางวัลจากนิตยสาร Forbes ในฐานะผู้หญิงที่รวยด้วยตัวเองที่มีอายุน้อยที่สุด (The youngest self-made billionaire)
คาดกันว่า ปัจจุบันซาร่าห์น่าจะมีทรัพย์สินอย่างน้อย 1,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 30,000 ล้านบาท) ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินจากบริษัทที่เธอถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ และสร้างมันขึ้นมากับมือ
ซาร่าห์ เป็นแรงบันดาลใจของมนุษย์เงินเดือน ที่อยากเปลี่ยนจากวิถีลูกค้ามาเป็นผู้ประกอบการ และเลือกทำความฝันของตัวเองอย่างไม่บุ่มบ่าม อดทนทำงานหนักแต่ไม่เบียดเบียนเวลางาน เพราะยังเป็นพนักงานประจำทำงานเต็มเวลาอยู่ จึงมีเวลาแค่ช่วงกลางคืน และวันหยุดสุดสัปดาห์ในการลองผิดลองถูกโปรเจคของตัวเองเท่านั้น แม้จะยาก หนัก และเหนื่อย แต่เธอก็ยังคงมุ่งมั่นที่จะทำมันให้สำเร็จ
หนึ่งบทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากเธอคือ..
“อย่าลาออกจากงานประจำ จนกว่าจะแน่ใจว่าธุรกิจไปรอด”
+++++++++++++++++++++++
Key to Sucess
สูตรทำอาชีพเสริมให้เวิร์ค
๐ ใส่ใจกับสิ่งรอบข้าง
๐ หมั่นตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ
๐ สร้างความต่าง
๐ ลงมือทำ
๐ อย่าหยุดพัฒนา

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น